เคล็ดลับแก้ปัญหาดิน เพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืนในการทำเกษตร

ในการทำการเกษตร องค์ประกอบสำคัญที่สุดก็คือ น้ำ สภาพอากาศ พันธุ์พืช และดิน ในส่วนของดินเป็นทั้งที่อยู่ของพืชและเป็นแหล่งอาหารของพืช ปริมาณของที่ดินแม้ว่าจะเป็นองค์ประกอบที่ดี หากใครมีที่ดินกว้าง ก็จะมีพื้นที่ในการทำเกษตรได้มาก แต่สิ่งที่สำคัญไปมากกว่านั้นก็คือ สภาพของดินที่จะต้องอุดมสมบูรณ์เพียงพอในการปลูกพืช มีสภาพดินในลักษณะที่พืชแต่ละชนิดชอบ มีอากาศและอาหารพืชมากเพียงพอ แต่ถ้าในที่ดินของเราเต็มไปด้วยดินที่ไม่มีคุณภาพ ก็จำเป็นต้องแก้ปัญหาและปรับปรุงดินขึ้นมา เคล็ดลับแก้ปัญหาดินที่รวบรวมมาได้แก่

1.ดินแข็ง ขาดสารอาหาร

ให้ใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นรอบ ๆ ตัว ซึ่งไม่ต้องลงทุนมาก ได้แก่ ฟางข้าว เปลือกถั่ว มูลสัตว์ตากแห้ง และ ใบไม้แห้ง ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ขุดดินบริเวณที่ต้องการปรับปรุง นำวัสดุดังกล่าวผสม ประโยชน์ที่ได้คือ แก้ไขการอัดแน่นแข็งของดิน ทำให้ดินร่วนขึ้น อากาศเข้าแทรกในดินได้ดี และเพิ่มอาหารในดินให้พืช   วิธีนี้จะทำแบบจริงจังทั้งแปลงในบริเวณกว้าง ต้องใช้เวลา กำลังคนและมีทุนสักหน่อย แต่ก็คุ้มค่า หากไม่ได้ทำเกษตรเต็มพื้นที่ใช้วิธีนี้ทำเฉพาะบริเวณที่ปลูกพืชก็ย่อมได้

2.ดินเปรี้ยวมาก

ดินเปรี้ยวเพราะมีความเป็นกรดสูง วิธีแก้ไขคือให้ปล่อยน้ำขังเอาไว้ในบริเวณดินที่ต้องการปรับ แช่ไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วจึงปล่อยน้ำออก ต้องทำหลาย ๆ ครั้งจึงจะเห็นผล และใช้ปูนขาว ใช้ปูนมาร์ล หรือโดโลไมต์ นำมาคลุกเคล้าและ หว่านในอัตราส่วนละ 2-4 ตันไร่ จากนั้นพลิกหน้าดิน การใช้ปูนอยู่ที่ความเปรี้ยวหรือกรดของดินว่ามากน้อยเท่าไรด้วย

ดินเปรี้ยว

3.ดินเค็มมาก

ใช้น้ำล้างดิน ในแบบชะล้างและขังน้ำ สลับกัน จะทำให้ความเค็มใต้ดินออกมาและถูกล้างไป จากนั้นให้ไถพรวน ดินจะซุยร่วนขึ้นและมีอากาศเข้าไปในดินถ่ายเท ใช้ฟางข้าว เศษหญ้ามาคลุมดินไว้เพื่อรักษากักเก็บความชื้นให้ดิน 

ดินเค็มมาก

4.ดินจืดมาก

ถ้าเป็นที่ดินที่ยังไม่มีแปลนจะทำประโยชน์อะไร แนะนำให้ปลูกต้นก้ามปูทิ้งไว้หลาย ๆ ปี ดินจะกลับมาสภาพดีและสมบูรณ์มากแต่ถ้าต้องใช้ประโยชน์ในดินเพื่อเกษตรแล้วละก็ ให้ปลุกพืชหมุนเวียนประเภทตระกูลถั่วเสียก่อน แล้วใส่ปุ๋ย จำพวกปุ๋ยอินทรีย์ เช่นปุ๋ยหมัก ปุ๋ย กทม. ปุ๋ยคอก อัตราส่วนประมาณ ไร่ละ 12 ตัน ดินจะกลับมาสมบูรณ์

ดินจืดมาก

แม้ว่าจะปรับสภาพดินจนเหมาะจะทำการเกษตรแล้ว ในการปลูกพืชก็ยังต้องเลือกประเภทของพันธุ์พืชให้เหมาะกับสภาพดินและอากาศในท้องถิ่นนั้นด้วย