สีปัสสาวะบอกโรค ! สัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพใกล้ตัว

สีของปัสสาวะที่เปลี่ยนไป เป็นเหมือนสัญญาณเตือนจากร่างกายที่บอกเราว่า กำลังเกิดความไม่สมดุลหรือความผิดปกติขึ้นภายใน ซึ่งสีปัสสาวะสามารถบอกโรคได้มากมาย ไม่ใช่แค่โรคเฉพาะของทางเดินปัสสาวะ อย่างไตหรือกระเพาะปัสสาวะเท่านั้น แต่ยังช่วยบอกปัญหาของร่างกายได้หลายระบบ เพราะของเสียเกือบทั้งหมดในตัวเรา ต้องถูกกรองผ่านไตก่อนออกจากร่างกาย

สีปัสสาวะบอกโรคอะไรได้มากมาย

สีปัสสาวะ

ปัสสาวะสีใส

คนทั่วไปควรดื่มน้ำประมาณวันละ 2 ลิตร แต่หากดื่มน้ำมากเกินไป อย่างเช่น

  • นักกีฬาที่ออกกำลังกายอย่างหนัก
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยารักษาโรคจิตเวช ที่กระตุ้นศูนย์ควบคุมความกระหาย
  • คนที่พยายามลดน้ำหนัก ด้วยการดื่มน้ำเปล่าอย่างเดียว
  • ความเชื่อผิด ๆ ที่พยายามดีท็อกซ์ร่างกายด้วยน้ำเปล่า
  • กิจกรรมบางอย่าง ที่จัดให้มีการดื่มน้ำจำนวนมาก

การกระทำเหล่านี้จะทำให้เกลือแร่และสารประกอบต่าง ๆ ในเลือดถูกเจือจาง โดยเฉพาะโซเดียม ที่อาจทำให้เกิดอาการชักเกร็ง, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, สมองบวมน้ำจนหมดสติ ซึ่งอาจเกิดอันตรายจนเสียชีวิตได้

ปัสสาวะสีเหลืองสว่าง

หากได้รับวิตามินมากเกินไป โดยเฉพาะวิตามินบี อาจทำให้ปัสสาวะมีสีเหลืองใส หรือสีคล้ายยางไม้ ซึ่งไม่ถือว่ามีอันตราย แต่ควรลดปริมาณลง เพราะคุณกำลังกินวิตามินเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ซึ่งวิตามินบางชนิดไม่สามารถเก็บสะสมไว้ในร่างกายได้ จึงต้องขับออกทางไต

ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม

  • ถ้าปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้มขึ้น แต่ยังใส แปลว่าคุณดื่มน้ำน้อยเกินไป หรือร่างกายมีการสูญเสียน้ำมากไป เช่น หลังจากออกกำลังกายอย่างหนัก, อยู่กลางแดดร้อนเป็นเวลานาน, อาเจียนมาก, ท้องเสีย ซึ่งควรดื่มน้ำและเกลือแร่ทดแทน จนกว่าปัสสาวะจะมีสีเหลืองใสเป็นปกติ
  • แต่หากปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม ขุ่น คล้ายนมข้น หรือปัสสาวะเป็นหนอง นั่นเป็นสีปัสสาวะบอกโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งควรพบแพทย์เพื่อรักษา เพราะหากปล่อยไว้ อาจลุกลามทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดได้

ปัสสาวะสีส้ม

  • ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ที่ใช้รักษาวัณโรค เป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อย
  • ยาไพรีเดียม (Pyridium, Phenazopyridine) ที่ใช้รักษาอาการระคายเคืองทางเดินปัสสาวะ แต่มักถูกคนบางกลุ่มนำมาอ้างว่า เป็นยาล้างไต เพราะกินแล้วจะเห็นปัสสาวะกลายเป็นสีส้มแดง หมายความว่า ไตถูกล้างอย่างสะอาดแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย
  • การกินอาหารที่มีเบต้าแคโรทีนสูง อย่างแครอท, มะละกอ, ผักโขม
  • การได้รับวิตามินบีและซีมากเกินไป

ปัสสาวะสีแดงสด

ปัสสาวะเป็นเลือด (Hematuria) เป็นสีปัสสาวะบอกโรค ที่มีการระคายเคืองของทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดความผิดปกติ ที่ทำให้อวัยวะภายในทางเดินปัสสาวะเสียหาย จนเกิดเลือดออก ซึ่งมักมีสาเหตุดังนี้

  • ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ : หากมีการติดเชื้อที่รุนแรงของกระเพาะปัสสาวะ, ท่อปัสสาวะ มักทำให้มีปัสสาวะเป็นเลือดสดได้ อาจพบร่วมกับอาการปวดหน่วงท้องน้อย, มีไข้สูง, คลื่นไส้อาเจียน
  • นิ่วในทางเดินปัสสาวะ : ทำให้มีเลือดสดปนในบางช่วงของการปัสสาวะ ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการปวดบีบอย่างรุนแรงเป็นพัก ๆ แต่หากมีการระคายเคืองมาก อาจทำให้มีปัสสาวะเป็นสีแดงสดตลอดการปัสสาวะได้
  • เนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ : เนื้องอกของเนื้อไต, ต่อมลูกหมาก หรือกระเพาะปัสสาวะ มักทำให้มีเลือดสดออกได้ตลอดการปัสสาวะ
  • เนื้องอกของอวัยวะข้างเคียง : มะเร็งมดลูก, มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาจโตจนกดเบียดและทะลุเข้ามาในทางเดินปัสสาวะ จนทำให้มีปัสสาวะเป็นเลือดสดได้
  • อุบัติเหตุ : การล้มกระแทกหรือถูกชนช่วงบั้นเอว ซึ่งเป็นตำแหน่งของไต หรือการล้มแล้วเกิดกระแทกบริเวณหว่างขาโดยตรง จะทำให้มีเลือดสดออกได้

ปัสสาวะสีแดงจางหรือสีชมพู

ปัสสาวะสีแดงคล้ายน้ำล้างเนื้อ, สีแดง หรือสีชมพู เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งใกล้เคียงกับการมีปัสสาวะเป็นเลือด

  • ปัสสาวะสีแดงคล้ายน้ำล้างเนื้อ เป็นสีปัสสาวะบอกโรคไตอักเสบ ซึ่งอาจพบร่วมกับมีความดันโลหิตสูงขึ้น, หนังตาบวม, แขนขาบวม หรือบางครั้งอาจมีปัสสาวะเป็นฟอง ที่เกิดจากการมีโปรตีนรั่วร่วมด้วยได้
  • ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) ที่พบได้ในคนที่เป็นโรคลมแดด (Heatstroke), ออกกำลังกายอย่างหนัก, ใช้ยาบางชนิด สามารถทำให้ปัสสาวะมีสีผิดปกติได้เช่นกัน
  • ต่อมลูกหมากโต, ต่อมลูกหมากอักเสบ, ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ, มีนิ่วหรือเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ อาจพบว่า มีปัสสาวะสีแดงจางได้เหมือนกัน

ปัสสาวะสีโค้กหรือสีน้ำตาล

ปัสสาวะสีโค้ก, สีชา หรือสีน้ำตาล เป็นสีปัสสาวะบอกโรคเกี่ยวกับตับ, ทางเดินน้ำดี และเม็ดเลือดแดงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต้องพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยมักเกิดจาก

  • มีความบกพร่องของตับและทางเดินน้ำดี เช่น โรคตับอักเสบ, โรคตับแข็ง
  • มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแตกตัวของเม็ดเลือดแดง เช่น โรคพร่องเอนไซม์ จี-6-พีดี (G6PD Deficiency), โรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria), โรคธาลัสซีเมีย, ปฏิกิริยาจากการได้รับเลือด
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เพื่อรักษาสิวหรือภาวะติดเชื้อในช่องคลอด, การใช้ยาถ่าย, ยารักษามาลาเรีย

ปัสสาวะสีเขียวหรือสีฟ้า

 ช่วงหนึ่งเคยมีข่าวดัง เรื่องยาล้างไตที่ทำให้ปัสสาวะกลายเป็นสีฟ้า โดยนำยาเมทิลีนบลู (Methylene Blue) ที่ใช้รักษาภาวะขาดออกซิเจน จากการที่มีเมทฮีโมโกลบินในเลือดสูง (Methemoglobinemia) มาหลอกให้คนหลงเชื่อว่า สามารถฟอกทำความสะอาดไตได้จริง

  • ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) ที่ใช้รักษาอาการซึมเศร้า
  • ยาอินโดเมธาซิน (Indomethacin) ใช้รักษาอาการปวด
  • Familial Benign Hypercalcemia (Blue Diaper Syndrome) โรคพันธุกรรมหายาก ที่ทำให้ลำไส้ดูดซึมกรดอะมิโนทริปโตเฟน (Tryptophan) ผิดปกติ

ปัสสาวะสีม่วง

  • คนไข้ที่คาสายสวนปัสสาวะพร้อมกับถุงปัสสาวะไว้ จะเกิดภาวะที่ปัสสาวะในถุงกลายเป็นสีม่วงได้ เป็นสีปัสสาวะบอกโรค PUB Syndrome (Purple Urine Bag Syndrome) ซึ่งเกิดจากการที่แบคทีเรียในถุงปัสสาวะ ย่อยสลายโปรตีนและได้สีน้ำเงินและสีแดงออกมา จึงทำให้เห็นเป็นปัสสาวะสีม่วง
  • ส่วนปัสสาวะสีม่วง จากข่าวที่เคยได้ยินเกี่ยวกับการตรวจสารเสพติดนั้น เป็นการนำปัสสาวะสีเหลืองปกติ ไปตรวจกับน้ำยาที่มีความจำเพาะ ซึ่งหากผลเป็นบวก จะเกิดปฏิกิริยากลายเป็นสีม่วง ซึ่งผู้เสพไม่ได้มีปัสสาวะสีม่วงเองตั้งแต่แรก

สาเหตุของปัสสาวะเปลี่ยนสีที่พบบ่อย

 ดื่มน้ำน้อย

 เพราะสีของปัสสาวะ เป็นตัวสะท้อนถึงความสมดุลของระดับน้ำในร่างกาย หากดื่มน้ำน้อยเกินไป นอกจากจะรู้สึกกระหายน้ำแล้ว ยังจะทำให้ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มขึ้นได้ เป็นสาเหตุที่ทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสีได้บ่อยมาก

  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

อาการปัสสาวะเป็นเลือด, ปัสสาวะเป็นสีแดงจาง มักพบว่าเกิดจากการติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ, ท่อปัสสาวะ, เนื้อไต ทำให้มีการระคายเคืองและอักเสบ จนทำให้มีเลือดปนออกมาในปัสสาวะได้ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มักมีการติดเชื้อได้ง่ายกว่าผู้ชาย ด้วยปัจจัยทางสรีระที่มีท่อปัสสาวะสั้นกว่า

  • ตับทำงานบกพร่อง

ตับเป็นอวัยวะสำคัญในการเปลี่ยนบิลิรูบิน ที่ได้จากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง แต่หากเซลล์ตับมีความผิดปกติ จนทำให้เกิดการทำงานที่บกพร่อง หรือมีการอุดตันของทางเดินน้ำดี จะทำให้บิลิรูบินถูกขับออกทางไตเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีปัสสาวะสีโค้กได้

  • มีการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงผิดปกติ

สีน้ำตาลเป็นสีปัสสาวะบอกโรคเลือด ที่เกี่ยวข้องกับการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็น G6PD Deficiency, Porphyria, Thalassemia รวมทั้งการติดเชื้อ, การใช้ยา หรือความผิดปกติใด ๆ ที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกตัวได้ง่ายหรือมากกว่าปกติ

  • การใช้ยา

ยาเป็นสารเคมีที่เรานำเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยากับสารเคมีในร่างกายแล้ว สามารถทำให้สีของปัสสาวะเปลี่ยนแปลงได้หลายสี ขึ้นอยู่กับชนิดของสารประกอบที่มีอยู่ในยา

ไม่ใช่แค่สีของปัสสาวะ ที่บอกโรคได้

ปัสสาวะเป็นเลือด, ปัสสาวะสีแดงคล้ายน้ำล้างเนื้อ, ปัสสาวะสีโค้ก หรือปัสสาวะสีใด ๆ ที่เปลี่ยนไปจากปกติ ไม่ได้เป็นเพียงลักษณะเดียวที่บอกถึงความผิดปกติได้ ยังมีความขุ่น, การเกิดตะกอน, การมีผลึกปน, การเกิดฟอง หรือกลิ่นที่เปลี่ยนไป เป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยทำให้นึกถึงความผิดปกติได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น หากหมั่นสังเกตสัญญาณเตือนเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้พบความผิดปกติ ที่ร่างกายพยายามบอกเราได้เร็วขึ้น

สรุป

 สีปัสสาวะบอกโรคได้มากมาย โดยมีความสัมพันธ์กับอวัยวะภายในร่างกายหลายระบบ สามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติ ของทางเดินปัสสาวะได้โดยตรง เช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ, การเกิดนิ่ว, มีเนื้องอก รวมทั้งยังสามารถบอกถึงความบกพร่อง ของระบบทางเดินอาหาร, ระบบไหลเวียนโลหิต, ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ, ระบบสืบพันธุ์, ระบบสมดุลเกลือแร่ได้อีกด้วย ซึ่งหากสีปัสสาวะเปลี่ยนไปจากสีเหลืองปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเพิ่มเติมและวินิจฉัยหาสาเหตุ จะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

Related Posts

เช็คด่วน!! ตัวเองหรือคนรอบข้างเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่?

โรคซึมเศร้า ซึ่งอาจจะเกิดขึ…

เช็คด่วน!! ตัวเองหรือคนรอบข้างเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่?

โรคซึมเศร้า ซึ่งอาจจะเกิดขึ…

อาการมือเท้าชา ไม่ควรละเลยปล่อยเอาไว้อาการเรื้อรังหรือไม่ ?

เคยเป็นกันไหมคะ อาการชาตามม…

ไม่น่าเชื่อ!! เม็ดบัว สามารถป้องกันการเป็นโรคหัวใจได้

ใครที่ชอบกินเม็ดบัว ยกมือขึ…

ข้อเข่าเสื่อม

เสียงก๊อกแก๊กที่หัวเข่า เป็นสัญญาณเตือนข้อเข่าเสื่อมหรือไม่ ?

สวัสดีค่ะ เชื่อว่าหลาย ๆ คน…

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เกิดจากอะไร?

เชื่อว่าสาว ๆ หลายท่านคงเคย…