กินเผ็ดมากเกินไป อันตรายจริงไหม ?

กินเผ็ดมากไปจะเป็นอันตรายจริงไหม เป็นคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในบทสนทนาระหว่างมื้ออาหาร แต่ก็มักจะจบลงแบบไม่ได้คำตอบอะไร เพราะมัวแต่เผ็ดหูอื้อตาลาย จากพิษสงของพริกเม็ดน้อยอยู่ เอาแบบนี้ดีไหม ? ก่อนจะกินเผ็ดมื้อถัดไป ลองมาหาคำตอบกันดีกว่าว่า หลาย ๆ เรื่องที่เคยได้ยินเกี่ยวกับการกินเผ็ด หลาย ๆ ข้อมูลที่รับรู้มา มีอะไรบ้างที่ยังไม่ถูกต้องนัก มื้อต่อไปจะได้กินเผ็ดแบบฟิน ๆ ไม่ต้องกังวลจนพลาดของดีไป

ทำไมกินพริกถึงรู้สึกเผ็ด ?

 สารแคปไซซิน (Capsaicin) ที่เยื่อสีขาวแกนกลางของพริกหรือรกพริก เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกเผ็ดเวลากินพริก โดยจะกระตุ้นตัวรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวด (Nociceptors) ที่ลิ้น ผ่านเส้นประสาท ส่งสัญญาณไปที่สมอง จนทำให้เราแปลผลออกมาเป็นความรู้สึกเผ็ด และยังกระตุ้นให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น, เหงื่อออก, มีอาการใจสั่น, หายใจเร็ว ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงหลากหลาย ที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

กินเผ็ด

กินเผ็ดแค่ไหนที่เรียกว่า เผ็ดจนเป็นอันตราย ?

กินเผ็ดมากอันตรายไหม ? ต้องบอกว่า อันตรายสำหรับแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะการรับรู้ความรู้สึกเผ็ดของแต่ละคนไม่เท่ากัน คนที่กินเผ็ดบ่อย ๆ ร่างกายจะปรับตัว และทนต่อความเผ็ดได้มากขึ้น ในขณะที่คนไม่ค่อยกินเผ็ด แค่กินพริกสามเม็ดก็อาจจะรู้สึกว่า กินเผ็ดมากเกินไปแล้ว เพราะฉะนั้นหากถามว่า แค่ไหนถึงเรียกว่าเผ็ดมากไป เผ็ดจนเป็นอันตราย อาจต้องลองสังเกตอาการเฉพาะของตนเอง ถ้ากินเผ็ดแล้วปวดท้องมาก กินเผ็ดจนปากชา ปากบวม ลิ้นชาจนไม่รับรส เผ็ดจนไม่รู้สึกถึงความอร่อยของอาหาร กินไปทรมานไป น้ำมูกน้ำตาไหล จนบางคนถึงขั้นอาเจียนพุ่ง ถ้าเป็นแบบนั้นเยื่อบุช่องปากคงพัง ส่วนเยื่อบุทางเดินอาหารก็คงเสียหายไม่ต่างกัน น่าจะเป็นอันตรายไม่น้อย คงต้องหยุดพักแล้วรีบดื่มนม ก่อนท้องพังจะดีกว่า

กินเผ็ดมากเกินไป ทำร้ายร่างกายได้ ?

มีข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า คนที่กินเผ็ดอย่างน้อย 6-7 วันต่อสัปดาห์ จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลดลง 14% เมื่อเทียบกับคนที่กินเผ็ดแค่สัปดาห์ละหนึ่งวัน ซึ่งน่าจะเกิดจากสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) หลายชนิดในอาหารที่มีรสเผ็ด ออกฤทธิ์ลดการอักเสบของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะพริก ซึ่งเป็นพืชที่อุดมไปด้วยสารประกอบทรงคุณค่าหลายชนิด ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการหวัด, บำรุงกระดูก, ถนอมดวงตา, รักษาอาการปวดข้อ และช่วยลดน้ำหนักได้ แต่หากกินพริกหรือกินเผ็ดมากเกินไป เผ็ดจนทางเดินอาหารรับไม่ไหว ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน

กินเผ็ดแล้วปวดท้อง จุกลิ้นปี่ ?

หลายคนมีอาการปวดท้อง จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ แสบท้อง ท้องเสียหลังจากกินพริก หรือกินสมุนไพรอย่างพริกไทย, กระเทียม, ขิง นั่นเป็นเพราะสารประกอบในพืชเหล่านั้น สามารถกระตุ้นการทำงานของทางเดินอาหารได้

  • กระตุ้นประสาทรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดในทางเดินอาหาร
  • กระตุ้นการหลั่งกรดและเอนไซม์บางชนิด ที่ระคายเคืองทางเดินอาหาร
  • เพิ่มการทำงานของกระเพาะและลำไส้ ให้บีบตัวมากขึ้น จนทำให้รู้สึกปวดท้อง
  • โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคกรดไหลย้อน หรือมีกระเพาะอาหารอักเสบอยู่เดิม การกินอาหารที่มีรสเผ็ด อาจทำให้รู้สึกจุกแน่นลิ้นปี่ แสบร้อนกลางอกมากขึ้น จนทำให้อาการของโรคแย่ลงได้

กินเผ็ด2

 กินเผ็ดแล้วเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ?

 ยังไม่มีการศึกษาที่เพียงพอ ที่จะสรุปได้ว่า กินเผ็ดมาก ๆ แล้วเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่ปัจจัยเสี่ยงหลักสำหรับมะเร็งกระเพาะอาหาร คือการติดเชื้อ H. pylori และพันธุกรรม เพราะฉะนั้นหากมีอาการปวดแสบท้องเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ H. pylori และกินยารักษา ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารได้แล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

คนที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนไม่ควรกินเผ็ด ?

การศึกษาในประเทศเกาหลีและญี่ปุ่นพบว่า การกินเผ็ดจะทำให้รู้สึกแน่นท้อง ไม่สบายท้อง โดยเฉพาะในคนที่เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease, IBD), เป็นโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome, IBS) หรือมีอาการแสบท้อง ท้องเสีย หลังกินเผ็ดอยู่เป็นประจำ ดังนั้นหากกระเพาะอาหารและลำไส้มีปัญหาอยู่เดิม ก็ไม่ควรกินเผ็ดในระดับที่มากเกินไป หรือหากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงเสีย

คนที่มีริดสีดวงทวารไม่ควรกินเผ็ด ?

มีการทดลอง โดยให้คนที่มีริดสีดวงกินสารสกัดจากพริกพบว่า ไม่ได้ทำให้อาการของริดสีดวงทวารแย่ลง แต่การกินเผ็ดมากเกินไป จะทำให้คนที่มีแผลฉีก หรือแผลปริที่ขอบทวาร (Anal Fissure) มีอาการปวดแสบ และทรมานได้มากหลังจากถ่ายอุจจาระ

สรุป

 กินเผ็ดมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เพราะสารแคปไซซินในพริก จะกระตุ้นการหลั่งกรดและเอนไซม์ในทางเดินอาหาร ทำให้บางคนรู้สึกระคายเคือง ปวดท้อง แสบท้อง จากการที่มีกรดเพิ่มขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว พริกไม่ได้ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่เป็นเพราะการติดเชื้อแบคทีเรีย H. pylori และการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ ที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งหากไม่ได้รักษา อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุ ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นอีกด้วย